ขณะที่ราคาสุกรเนื้อมีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคต่างบ่นถึงราคาที่ต้องข่ายแพงขึ้น แต่ความต้องการบริโภคยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ผู้ผลิตหรือผู้เลี้ยงสุกรหลายรายก็เห็นใจผู้บริโภค ทั้งนี้ราคานั้นขึ้นอยู่กับตลาดที่เป็นผู้กำหนดราคามาให้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ผลิตต่างให้ความสำคัญคือ คุณภาพของเนื้อสุกร ที่ต้องรักษาคุณภาพให้ดีสมกับราคาที่ต้องจ่ายสูงขึ้น

นายสมชาย ผสมทรัพย์ เจ้าของฟาร์มสุกร พลวงทองฟาร์ม ตำบลพลวงทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ได้ดำเนินกิจการฟาร์มสุกรมาเป็นระยะเวลา 16 ปี ดำเนินกิจการ เลี้ยงสุกรแบบครบวงจร โดยมีทั้งฟาร์มพ่อ - แม่พันธุ์เพื่อผลิตลูกสุกร และฟาร์มสุกรขุนที่รับลูกสุกรมาเลี้ยงต่อเพื่อจำหน่าย โดยการเลี้ยงจะเป็นการเลี้ยงในระบบฟาร์มปิด และฟาร์มเปิดแบบดั้งเดิม เน้นเรื่องการควบคุมโรคเป็นสำคัญ อีกทั้งยังต้องให้ถูกหลักตามมาตรฐานฟาร์มที่กรมปศุสัตว์ได้กำหนดไว้ มีการแยกพื้นที่ภายในและภายนอกส่วนพื้นที่เลี้ยงสัตว์อย่างชัดเจน ก่อนเข้าในส่วนพื้นที่เลี้ยงสัตว์ ทุกครั้งต้องผ่านการฆ่าเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นคน สิ่งของ อุปกรณ์ หรือยานพาหนะที่จำเป็นต้องเข้าไปภายในฟาร์ม โดยภายในฟาร์มมีโรงเรือนเลี้ยงสุกร จำนวน 24 โรง ประกอบด้วย โรงผสม 3 โรง เล้าพ่อพันธุ์ 2 โรง เล้าคลอด 3 โรง เล้าอนุบาล 2 โรง และสุกรขุน 8 โรง (แบบปิด 6 โรง และแบบเปิด 2 โรง) โรงเรือนเก็บวัตถุดิบและผลิตอาหารสุกร 2 โรง บ้านพักคนงาน 3 โรง และห้องแล็ป 1 โรง

ปัจจุบันมีการเพาะลูกสุกรเพื่อจำหน่ายสู่ท้องตลาดเป็นหลัก จำนวน 14,000 ตัวต่อปี ตลาดหลักมีทั้งในประเทศและต่างประทศอย่างเวียดนาม ที่ยังคงนำเข้าลูกสุกรไปขยายพันธุ์และเลี้ยงต่อ โดยแบ่งเป็นการจำหน่ายลูกสุกร 80% ส่วนอีก 20% เป็นการเลี้ยงสุกรขุนเพื่อจำหน่าย และในช่วงนี้ประสบปัญหาการเลี้ยงลูกสุกรเพื่อจำหน่าย ผู้ซื้องดซื้อลูกสุกร และทางฟาร์มไม่มีตลาดหลัก จึงได้ต่อยอดการเลี้ยงสุกรขุนเองทั้งหมด เพื่อต่อยอดธุรกิจให้มีความมั่นคงมากขึ้น จึงได้ปรึกษาไปที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.เพื่อหาแนวทางการต่อยอดธุรกิจฟาร์มสุกรให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

นายเกรียงไกร จารย์โพธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า พลวงทองฟาร์ม เป็นฟาร์มสุกรที่มีการเติบโตขึ้นได้ แม้จะประสบปัญหาราคาขึ้นลง รวมถึงสถานการณ์การส่งออกที่เจอโรคระบาดต่างๆทั้งในสุกรเองและโควิด-19 ธ.ก.ส.จึงได้เข้ามา เสริมสภาพคล่อง ผ่านสินเชื่อโครงการ Green Credit (มาตรฐาน GAP) โครงการสินเชื่อยั่งยืนของภาคการเกษตรไทย ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพการพัฒนาธุรกิจให้เข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งทาง ธ.ก.ส. ยังได้เปิดโอกาสให้ธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ประกอบการอื่นๆ ได้เข้าโครงการ Green Credit และสินเชื่ออื่นๆที่จะช่วยให้ธุรกิจเกษตรนั้นมีสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะหายเมื่อไหร่ โดยผู้สนใจสามารถปรึกษาได้ที่ ธ.ก.ส. ใกล้บ้านทั่วประเทศ

ปัจจุบัน พลวงทองฟาร์ม ได้นำผลผลิตเนื้อสุกรของตนเองไปใช้ในร้านอาหารชาบู “ชาบูตะ” เป็นธุรกิจต่อยอด ที่เปิดในตัวอำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคได้รู้จักเนื้อสุกรคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น