วันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

รมว.อว. ตรวจเยี่ยม วว. สถานีวิจัยลำตะคอง สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช

 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินงานสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในส่วนของหน่วยงานภูมิภาค ได้แก่ สถานีวิจัยลำตะคอง และสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช โดยมี ดร.ชุติมา  เอี่ยมโชติชวลิต  ผู้ว่าการ วว. ผู้บริหารและบุคลากรร่วมให้การต้อนรับพร้อมนำชมผลสำเร็จการดำเนินงานนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สถานีวิจัยลำตะคอง มีเนื้อที่  740 ไร่ ตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา มุ่งดำเนินงานนำองค์ความรู้ด้าน วทน. ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร  พร้อมทั้งพัฒนาขีดความสามารถการผลิต   เน้นการลดต้นทุน  การพัฒนาด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตร  การยกระดับมาตรฐานสินค้า  การแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักวิจัยทั้งภายในและภายนอก  รวมถึงเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและการเรียนรู้ทางด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช เกษตรอินทรีย์ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช  ความหลากหลายทางชีวภาพด้านแมลงที่เกี่ยวข้องกับด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อม และการวิจัยต่อยอดการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพบนองค์ความรู้ของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-Economy)

ทั้งนี้ “สถานีวิจัยลำตะคอง” เป็นแหล่งต้นน้ำงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี  นวัตกรรม ของ วว. สู่พี่น้องเกษตรกรในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านเกษตรและพฤกษศาสตร์แห่งใหม่ของประเทศไทย นอกจากนั้นยังมีบทบาทสำคัญด้านวิจัยและพัฒนาการเกษตร  วนเกษตร พฤกษศาสตร์  รองรับการพัฒนางานวิจัย วว. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานชีวภาพ หรือ Bio- based Economy จึงถือเป็นแหล่งต้นน้ำในการสร้างสรรค์ให้เกิดงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตทางเกษตร อุตสาหกรรม อาหารของประเทศไทย

ตัวอย่างผลงานสำคัญที่กำลังดำเนินงาน อาทิ ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อชุมชน การส่งเสริมเพาะเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจในระบบโรงเรือนมาตรฐาน การเพาะปลูกพืชพื้นบ้านตามระบบการผลิต GAP การพัฒนาต้นแบบการเพาะปลูกพืชและเห็ดในป่าครัวเรือน ป่าชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เป็นต้น ภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ชุมชน รอบสถานีฯ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น เทคโนโลยีการปลูกและแปรรูปผักหวานป่า การปลูกผักกูดเป็นการค้า การผลิตปุ๋ยอินทรีย์  การผลิตและการใช้ประโยชน์จากบล็อกประสาน วว. รวมถึงเป็นแหล่งถ่ายทอดความรู้ด้านสมุนไพร  โดยเป็นที่ตั้งของสวนสมุนไพร วว. เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพิพิธภัณฑ์พืชสมุนไพร นอกจากนั้นยังให้บริการสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกในการประชุม/ฝึกอบรม และสัมมนาให้แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เยี่ยมชมการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพด้านพืชและแมลง ซึ่งได้จัดสร้างอาคารอนุรักษ์พันธุกรรมพืชเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในส่วนจัดแสดงนิทรรศการ “มหัศจรรย์พืชพรรณา” นำเสนอวิวัฒนาการและประวัติการใช้ประโยชน์ของพืช  7 โซน ได้แก่ พืชวิวัฒนาการต่ำและพืชใบเลี้ยงคู่โบราณ พืชใบเลี้ยงเดี่ยวและใบเลี้ยงคู่ พืชเกียรติประวัติไทย พืชหายากและพืชเฉพาะถิ่น พืชสมุนไพรและเครื่องเทศ พืชเครื่องดื่ม และนิทรรศการหมุนเวียน ศูนย์อนุรักษ์แมลงเขตร้อน สัมผัสกับแมลงมีชีวิต พิพิธภัณฑ์แมลงหายาก  และประโยชน์ของแมลงเพื่อใช้เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือก และการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร  ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ (เรือนกระจกหลังที่ 2)รวมทั้งเยี่ยมชมส่วนจัดแสดงความหลากหลายของพรรณพืช “มหัศจรรย์พรรณไม้” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ (เรือนกระจกหลังที่ 1)ที่จัดแสดงนิทรรศการความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชและพรรณไม้หายากทั้งในและต่างประเทศ โดยจัดแสดงตามประเภทพรรณไม้  6 โซน ได้แก่  พรรณไม้น้ำ  พรรณไม้อัลไพน์  พรรณไม้อิงอาศัย  พรรณไม้ทะเลทราย  พรรณไม้วิวัฒนาการต่ำ และพรรณไม้หายาก

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ซึ่งเป็นสถานีวิจัยที่มีความสำคัญด้านวิจัยและพัฒนา คือ 1.เป็นสถานที่เพื่อการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยาป่าเขตร้อน (ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง) 2.เป็นห้องปฏิบัติการธรรมชาติสำหรับนักเรียน นักศึกษา เรียนรู้และศึกษาธรรมชาติของป่าไม้และสิ่งมีชีวิตในเขตสถานีฯ  3.เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลก ทำหน้าที่ดำเนินการอนุรักษ์พัฒนาและการสนับสนุนการศึกษาวิจัย ที่เชื่อมโยงกับเครือข่ายนานาชาติทั่วโลก 4.เป็นสถานที่ศึกษาธรรมชาติและพักผ่อนหย่อนใจทางด้านธรรมชาติของป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง พรรณพืชและพันธุ์สัตว์นานาชนิด และ 5.เป็นศูนย์การประชุมและสัมมนา

สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชหรือแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช  มีเนื้อที่ทั้งหมด   78.08  ตารางกิโลเมตร   หรือประมาณ   48,800   ไร่    ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2510  มีภารกิจการวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและนิเวศวิทยา  ปัจจุบันมีผลงานวิจัยในพื้นที่แห่งนี้มากกว่า 500 เรื่อง  ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2519 สถานีฯ ได้รับการรับรองจาก UNESCO ภายใต้โครงการ MAB (Man and Biosphere Program) ให้เป็นแหล่งสงวนชีวมณฑลแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 7 แห่งของเอเชียในขณะนั้น ปัจจุบันสถานีฯ  มีศักยภาพในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดปีละ 146,059 ตันต่อปี ประกอบด้วย 1)ป่าดิบแล้ง ดูดซับได้ 3.26 ตัน/ไร่/ปี พื้นที่ 26,474 ไร่ ดูดซับได้ปีละ 86,305 ตัน 2) ป่าเต็งรัง ดูดซับ 2.84 ตัน/ไร่/ปี พื้นที่ 7,373 ไร่ ดูดซับได้  20,939 ตัน 3) ป่าปลูก ดูดซับได้ 3.23 ตัน/ไร่/ปี พื้นที่ 12,028 ไร่ ดูดซับได้ 38,850 ตัน ทั้งนี้ในปี 2562 สถานีฯ ได้รับรางวัลสำนักงานสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมระดับดีเยี่ยม จากการพิจารณาคัดเลือกของ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วช. พาเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ครั้งที่ 5

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ในงาน...