วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตรวจเยี่ยมสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และเยี่ยมชมนิทรรศการงานตามนโยบายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) อันเป็นผลการดำเนินงานการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม และกิจกรรมตามภารกิจของ วช. พร้อมทั้งมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่ วช. โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พร้อมด้วย ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ วช. และคณะนักวิจัยให้การต้อนรับ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานที่สำคัญมาก เพราะถือเป็นต้นกำเนิดของหลาย ๆ หน่วยงาน เช่น สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า รวมทั้งได้มอบทุนการวิจัยให้กับผู้คนในหลากหลายสาขามากมาย และได้รับผลสัมฤทธิ์ที่น่าชื่นชม นอกจากการตรวจเยี่ยมแล้ว ต้องการให้คนในกระทรวง อว. ทุกส่วน ทุกหน่วยงานได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมองว่า วช. ควรจะเขียนประวัติศาสตร์ที่เป็นด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นมา เนื่องจากมีการดำเนินงานด้านนี้มาอย่างยาวนาน สำหรับการตรวจเยี่ยมในวันนี้ไม่ใช่เพียงแค่การเปิดให้หน่วยงานอื่น ๆ ของกระทรวงได้เรียนรู้ การดำเนินงานของ วช. เท่านั้น แต่ทาง วช. ยังได้นึกย้อนถึงการดำเนินงานที่ผ่านมาอีกด้วย เพื่อให้เกิดการพัฒนามากยิ่งขึ้นต่อไป นอกจากนั้นยังได้เสนอให้มีการดำเนินการศึกษาและจัดทำในเรื่องของเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์โบราณด้วย และขอชื่นชมในส่วนงานของศูนย์รวบรวมข้อมูลของ วช.
สำหรับนิทรรศการงานตามนโยบายกระทรวง อว. จากการบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรมตามภารกิจของ วช. มีจัดแสดงกว่า 70 ผลงาน ได้แก่ ผลงานวิจัยภายใต้แพลตฟอร์มโจทย์ท้าทายทางสังคมในกลุ่มโจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการเกษตร ได้แก่ การเฝ้าระวังและเตือนภัยปัญหาหมอกควัน โดยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศระบบเซ็นเซอร์ Dustboy ในประเทศไทย
ระยะที่ 3 กลุ่มสังคมสูงวัย ได้แก่ ระบบหุ่นยนต์เคลื่อนที่ลำเลียงยาและเวชภัณฑ์ การติดตั้งและทดสอบระบบเตียงพลิกตะแคงอัตโนมัติพร้อมโปรแกรมสมาร์ทเบดสำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กลุ่มสังคมคุณภาพและความมั่นคง ได้แก่ โครงการประเมินผลกระทบของโควิด – 19 ต่อสังคมและเศรษฐกิจ ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง
รองศาสตราจารย์ ดร.กมลพรรณ เพ็งพัด ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในนักวิจัยที่มาร่วมโชว์ผลงานวิจัย โครงการบูรณะและอนุรักษ์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่9 ราชยานและยานมาศ ด้วยแก้วคริสตัลบางที่ประยุกต์ เป็นกระจกโบราณ(กระจกเกรียบ) บอกว่า ได้ร่วมทำการวิจัยกับ สล่าพื้นเมืองเชียงใหม่ คุณรชต ชาญเชี่ยว ผู้ที่มีฝีมือด้านการทำกระจกโบราณ ที่ได้หายสาบสูญไปร้อยกว่าปี การพัฒนากระจกไทยโบราณ กระจกจืนและกระจกเกรียบขึ้นมาใหม่ เป็นผลงานวิจัยที่ วช. ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นการประดิษฐ์แก้วคริสตัลบาง เพื่อประยุกต์เป็นกระจกโบราณ จนสามารถนำกระจกจืนและกระจกเกรียบ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบประดับกระจกจืนแบบล้านนา สามารถนำไปบูรณะโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญของชาติ งานกระจกไทยโบราณที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้นำใช้บูรณะศิลปวัตถุและโบราณวัตถุได้คล้ายคลึงกับกระจกเกรียบกระจกจืนโบราณเป็นอย่างมาก และการติดโลหะผสมที่มีตะกั่วเป็นฐานแบบโบราณมีความคงทน สามารถใช้งานได้ยาวนาน ทั้งนี้ วช. ได้ให้การสนับสนุนทุนเพื่อผลิตกระจกเกรียบให้สำนักช่างสิบหมู่ ได้นำไปใช้ในการบูรณะและอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งศึกษาการขยายขนาดการผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตระดับกึ่งอุตสาหกรรมต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น