การขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีน
การขนส่งทางบก ถือเป็นวิธีการขนส่งที่ได้รับความนิยมของผู้ส่งออกไทย เพราะมีระยะเวลาสั้นกว่าทางเรือ
ทำให้ผลไม้ไทยมีคุณภาพและความสดยาวนานสามารถกระจายไปยังตลาดตามมณฑลต่างๆ ของจีนได้อย่างรวดเร็ว
โดยจีนกำหนดว่า ประเทศที่ไม่มีพรมแดนติดกับจีน
หากประสงค์จะขนส่งผลไม้ผ่านเส้นทางทางบกจะต้องจัดทำความตกลงในรูปแบบพิธีสาร ซึ่งไทยและจีน
จึงได้ลงนามพิธีสารว่าด้วยการขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีนผ่านประเทศที่สาม ตั้งแต่ปี 2552
แต่สามารถนำเข้าได้เพียงสองด่านทางตอนใต้ของจีน ได้แก่ ด่านโม่หาน มณฑลยูนนาน
และด่านโหย่วอี้กว่าน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงเท่านั้น
ทั้งนี้ หลายปีที่ผ่านมา
ปริมาณการขนส่งผลไม้สดจากไทยไปจีนโดยเส้นทางบกขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านโหย่วอี้หว่าน
ส่งผลให้รถขนส่งสินค้าติดอยู่ที่ชายแดนจีนเป็นเวลานาน ทำให้สินค้าผลไม้สด โดยเฉพาะทุเรียนไทยที่ส่งไปจีนเสียหาย
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เล็งเห็นว่า การแก้ปัญหาที่ถูกต้องคือการเพิ่มช่องทางการนำเข้าผลไม้ผ่านเส้นทางทางบก
เพื่อเป็นการกระจายสินค้าให้สามารถเข้าได้หลายช่องทาง ช่วยลดภาระการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในแต่ละด่าน
ตลอดจนลดระยะเวลาในการตรวจปล่อยสินค้าของแต่ละด่านลง ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผลไม้ไทย
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร
และกงสุล (ฝ่ายการเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ได้เดินทางเยือนอำเภอตงซิง
เมืองฝางเฉิงก่าง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นเมืองชายแดนที่อยู่ติดกับด่านหม่งก๋าย
ของเวียดนาม เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 เพื่อหารือแนวทางในการอนุญาตให้ผลไม้ไทยสามารถขนส่งทางบกจากประเทศไทยเข้าที่ด่านตงซิง
เป็นการเพิ่มโอกาสและช่องทางการนำเข้าและการจำหน่ายผลไม้ไทยในจีน
ดร.จูอะดี
พงศ์มณีรัตน์ กล่าวว่า มกอช. ได้เสนอร่างพิธีสารการส่งออกผลไม้ไปจีนโดยทางบกฉบับใหม่
ซึ่งระบุให้จีนเพิ่มด่านนำเข้าผลไม้จากไทยในการขนส่งผลไม้ให้ฝ่ายจีนพิจารณา โดยฝ่ายจีนตอบรับข้อเสนอในร่างพิธีสารดังกล่าว
พร้อมแจ้งว่า นอกจากด่านตงซิงแล้ว ยังมีด่านรถไฟผิงเสียงสามารถใช้ในการขนส่งได้เช่นกัน
ไทยจึงได้ผนวกด่านรถไฟผิงเสียงเข้าไปในรายชื่อด่านที่ต้องการให้ฝ่ายจีนเปิดเพิ่มด้วย
ต่อมาในการเดินทางเยือนจีนของนายเฉลิมชัย
ศรีอ่อน รมว. เกษตรและสหกรณ์ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันในหลักการของร่างพิธีสารการขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนทางบกแล้ว
ซึ่งเดิมคาดว่าจะสามารถลงนามได้ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563
แต่จีนและไทยกลับต้องมาพบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พิธีลงนามต้องเลื่อนออกไป
และจีนได้จำกัดด่านนำเข้าสินค้าระหว่างชายแดนจีนและเวียดนามเพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19
ทำให้เกิดปัญหาสินค้าผลไม้สดของไทยและเวียดนามต้องถูกขนส่งเข้าจีนผ่านด่านเดียวกัน
ส่งผลให้เวียดนามใช้มาตรการขนส่งแต่สินค้าของเวียดนามเองก่อน
ทำให้สินค้าผลไม้ไทยต้องรอคิวที่ด่านจนเกิดผลกระทบต่อคุณภาพ
มกอช. และกรมวิชาการเกษตร จึงได้เร่งหารือกับกระทรวงศุลกากรจีน (GACC) เพื่อขอเปิดใช้ด่านนำเข้าและเส้นทางตามพิธีสารฉบับใหม่
ซึ่งฝ่ายจีนได้แสดงน้ำใจอนุญาตให้ไทยขนส่งสินค้าผ่านด่านตงซิง และด่านรถไฟผิงเสียงได้ทันทีภายในเดือนเมษายนนี้
โดยยังไม่ต้องลงนามในพิธีสาร ซึ่งนับเป็นความช่วยเหลือของมหามิตรในยามยาก เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและจีนที่เปรียบเสมือนบ้านพี่เมืองน้อง
และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกันมาช้านาน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 เลขาธิการ
มกอช. ได้ลงนามในหนังสือถึงกระทรวงศุลกากรของจีน (GACC)
เพื่อนำส่งร่างพิธีสารฯ ฉบับดังกล่าวให้ฝ่ายจีนมีหนังสือแจ้งความเห็นชอบอย่างเป็นทางการมายังฝ่ายไทยอีกครั้ง
เพื่อที่ มกอช. จะได้นำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
และเตรียมการสำหรับการลงนามระหว่างรัฐมนตรีของทั้งสองฝ่าย
เมื่อเหตุการณ์โรคระบาดสงบลงแล้ว
ปัจจุบันด่านตงซิงได้รับการพัฒนาและยกระดับให้สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้
ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้พร้อมรองรับการตรวจสอบผลไม้ที่จะนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยรัฐบาลได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ได้ถึง 2,000 คันต่อวัน รวมทั้งนำระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์มาใช้
เพื่อให้การตรวจปล่อยสินค้าเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยล่าสุด ระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ
ส่วนใหญ่เสร็จสมบูรณ์พร้อมรองรับการขนส่งแล้ว
“ในปี
2561 มีปริมาณการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนโดยเส้นทางขนส่งทางบกราว 664,000 ตัน โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นกว่า
321,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีปริมาณการส่งออกราว 343,000
ตัน คิดเป็นปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 90 โดยในปี 2561
มีมูลค่าส่งออกกว่า 25,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทุกปี
ซึ่งการเปิดด่านตงซิงดังกล่าว
จะเป็นมาตรการในการรองรับการเติบโตของตลาดสินค้าผลไม้ไทยในจีนในอนาคตต่อไป”เลขาธิการ
มกอช. กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น