วันเสาร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2564

กรมทรัพยากรธรณี เปิดโลกธรณีวิทยา ธรณีพิบัติภัย ซากดึกดำบรรพ์ และธรรมชาติวิทยา ที่กระบี่

 การท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยากำลังจะกลับมาได้รับความนิยมกันอีกครั้ง ภายหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก แหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาหลายแห่งมีความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด จังหวัดกระบี่ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เห็นได้ชัด ภายหลังจากเหตุหินถล่มที่เกาะทะลุ

นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ธรณีพิบัติภัย หินถล่มที่เกาะทะลุ  ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี  อําเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ หลังเกิดถล่มเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่ผ่านมาว่า ลักษณะทางธรณีวิทยาบริเวณเกาะทะลุ หรือเกาะแม่อุไร เป็นหินตะกอนเนื้อประสานชนิดหินปูนเนื้อโดโลไมต์ อายุยุคเพอร์เมียน อายุประมาณ 251-299 ล้านปี มีสีเทา เนื้อแน่น เป็นมวลหนา ไม่แสดงชั้นหิน มีรอยแตกรอยร้าวมากมาย เปราะแตกหักง่าย ประกอบกับ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในภูมิภาคเขตมรสุม มีอากาศร้อนชื้น มีปริมาณน้ำฝนมาก และเกิดคลื่นซัดต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยเร่งการผุกร่อนของหินอย่างรวดเร็ว จนเกิดเหตุหินถล่มดังกล่าวขึ้น ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ได้ส่งผลกระทบต่อชายฝั่งและหมู่เกาะต่างๆของประเทศไทยแน่นอนในอนาคต ทั้งพายุเกิดถี่ขึ้น  ลมที่พัดน้ำทะเลจนเกิดคลื่นขนาดใหญ่ หรือสตอร์มเซิร์จ และอัตราการกัดเซาะสูง จากกรณีของเกาะทะลุถล่มและปราสาทหินพันยอด เกาะเขาใหญ่ถล่ม

การถล่มของหินเกาะทะลุเป็นการถล่มแบบล้มคว่ำลงมาตามลาดเขาและอยู่ในเขตกลุ่มรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยที่มีแนวแตกหลักอยู่ในแนวดิ่ง ซึ่งหินถล่มที่เกาะทะลุมีน้ำหนัก 254,016 กิโลกรัม หรือประมาณ 254 ตัน ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 4 กรมทรัพยากรธรณี ได้เฝ้าระวังและให้คำแนะนำให้กับพื้นที่โดยรอบของเกาะแม่อุไรและพื้นที่รอบหินที่ถล่มรัศมี 100 เมตร พร้อมห้ามไม่ให้เรือประมงและเรือท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ เนื่องจากอาจมีเศษหินที่ยังค้างอยู่บริเวณด้านบนเกาะร่วงหล่นลงมาและหินถล่มอาจเคลื่อนตัวหรือแตกหักเพิ่มมากขึ้น พร้อมเฝ้าระวังติดตามการเคลื่อนตัวของหิน หรือการแตกเพิ่มเติมของหินจนกว่าหินจะมีเสถียรภาพที่มั่นคง

ขณะเดียวกันบริเวณโดยรอบของเกาะทะลุเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังที่สำคัญ ขณะนี้ได้ห้ามนักท่องเที่ยวเข้าใกล้พื้นของเกาะเกรงว่าจะเกิดเหตุถล่มซ้ำ แต่ก็ยังมีนักท่องเที่ยวนั่งเรือผ่านไปถ่ายรูปกันอยู่เป็นระยะในระยะที่มองเห็นได้ และในปีนี้จะได้มีการสำรวจใต้น้ำกันอีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวจะสามารถเข้ามาท่องเที่ยวและทำกิจกรรมดำน้ำได้เหมือนเดิมหรือไม่ แต่ที่แน่ๆตอนนี้นักท่องเที่ยวหลายคนที่ไปเที่ยวทะเลกระบี่ จะต้องแวะถ่ายรูปเกาะทะลุ ตรงหินถล่มเพื่อเช็คอินกันแล้ว

นอกจากเกาะทะลุแล้ว ทางกรมทรัพยากรธรณี ยังได้สำรวจซากดึกดำบรรพ์ ไฮยีนาลายจุด ถ้ำเขายายรวก ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ พบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมในตะกอนถ้ำโบราณ(Fissure filling) บริเวณภูเขาหินปูน ซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 2 สายพันธุ์ คือ ไฮยีน่าลายจุด (Crocuta crocuta) และแรดชวา (Rhinoceros  sondaicus) โดยการเปรียบเทียบลักษณะสัณฐานวิทยาของฟันที่ค้นพบภายในถ้ำยายรวกกับซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบในแหล่งอื่นๆ และเปรียบเทียบกับตัวอย่างฟันสัตว์ในปัจจุบันอีกด้วย จำนวนและความสมบูรณ์ของซากดึกดำบรรพ์ชี้ให้เห็นว่าแหล่งซากดึกดำบรรพ์ถ้ำยายรวก บ้านถ้ำเพชร ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ มีศักยภาพเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่สามารถพัฒนาสำหรับการเรียนรู้ทางด้านธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาของบุคคลทั่วไป การศึกษาวิจัยของนักวิชาการ การอนุรักษ์และท่องเที่ยวของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ไฮยีน่าลายจุดสายพันธุ์ Crocuta crocuta ถือเป็นหนึ่งในหลักฐานที่สำคัญในการกำหนดอายุของชั้นตะกอนที่ค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของพวกมัน เนื่องจากหลักฐานซากดึกดำบรรพ์ของไฮยีน่าลายจุดที่เก่าแก่ที่สุดมีอายุราวๆ 400,000 ปี  และซากดึกดำบรรพ์ของพวกมันถูกค้นพบในประเทศไทยในช่วงสมัยไพลสโตซีนตอนกลางช่วงปลายหรือประมาณ 200,000 ถึง 160,000 ปีที่ผ่านมาจึงมีความเป็นไปได้ว่าไฮยีน่าลายจุดอาจปรากฏในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนถึงสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย และพบว่าไฮยีน่าลายจุดในสมัยไพลสโตซีนนั้นมีถิ่นที่อยู่อาศัยไม่ได้แตกต่างกับในปัจจุบัน คือ ชอบอยู่บริเวณทุ่งหญ้าเปิด

ส่วนการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของแรดชวานั้นบ่งบอกว่ามีบางบริเวณที่เป็นป่าทึบ (closed forest) เนื่องจากแรดชวาในปัจจุบันมีถิ่นอาศัยอยู่ในป่าทึบบริเวณที่ราบต่ำและที่ราบลุ่ม  ดังนั้นบริเวณตำบลอ่าวลึกเหนือ จังหวัดกระบี่ ในยุคน้ำแข็งน่าจะมีสภาพแวดล้อมเป็นทุ่งหญ้าที่ราบต่ำที่ล้อมรอบไปด้วยป่า

นอกจากนี้ ทางกรมทรัพยากรธรณี ยังมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งอนุรักษ์ทางธรณีอย่าง สุสานหอยกระบี่ ที่อุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี บ้านแหลมโพธิ์ แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกระบี่  ในปัจจุบันชั้นหินสุสานหอยได้พังทลายลงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นจุดชมสุสานหอยได้ดีที่สุดและสวยที่สุด การพังทลายมีจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ภูมิประเทศของพื้นที่สุสานหอยตั้งอยู่ชายฝั่งทะเล มีลักษณะเป็นหัวแหลมยื่นออกไปในทะเลและขวางทิศทางการเคลื่อนตัวของคลื่น  คลื่น น้ำขึ้นน้ำลงและอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นปัจจัยหลักทางธรรมชาติที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพของสุสานหอย โดยลมเป็นตัวการทำให้เกิดคลื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดผ่านพื้นที่นี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนจะทำให้ฝนตกชุกและคลื่นสูงกว่าปกติเมื่อกระทบชายฝั่งก็จะทำให้ชั้นหินแตก และพัดพาเศษหินเศษดินเหล่านั้นออกสู่ทะเล กระแสน้ำขึ้นน้ำลงที่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละวัน จะนำตะกอนมาสะสมตัวบนฝั่งในช่วงน้ำขึ้น และชะล้างตะกอนออกไปในช่วงน้ำลงทำให้ชั้นหินสึกกร่อน พายุจะทำให้เกิดลมแรงกระแสน้ำเชี่ยว คลื่นสูง และระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้เกิดการกัดเซาะในชั้นหินสุสานหอย ทำให้ชั้นหินสุสานหอยวางตัวอยู่บนชั้นถ่านลิกไนต์และชั้นหินเคลย์ ซึ่งเป็นชั้นที่มีความทนทานต่อการกัดเซาะน้อยมาก จึงถูกคลื่นและน้ำทะเลกัดเซาะให้เป็นโพรงลึกเข้าไป ชั้นหินสุสานหอยที่แข็งแกร่งซึ่งวางทับอยู่ข้างบนขาดฐานค้ำยันก็พังทลายลงมา อีกทั้งยังมีรอยเลื่อนและรอยแยกที่เกิดขึ้นในชั้นหินเป็นเสมือนรอยปริร้าวที่ทำให้การกัดเซาะจนพังทลายเกิดได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบันปรากฏการณ์การกัดเซาะชายฝั่งได้เกิดขึ้นทั่วโลก สาเหตุมาจากการแปรสัณฐานทางธรณีวิทยา (Tectonic movement) การละลายของน้ำแข็งทางแถบขั้วโลก การจมตัวลงของพื้นมหาสมุทรและทฤษฎี ปฏิกิริยาเรือนกระจก (Greenhouse effect) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่เชื่อกันว่าทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลก  (Global sea level rise) ทั้งยังมีผลกระทบจากกิจกรรมการท่องเที่ยวและการเข้าอยู่อาศัยของประชาชน หาดลานหินสุสานหอยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกระบี่ จึงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาเหยียบย่ำบนชั้นหินสุสานหอย การเหยียบย่ำทำให้พื้นหินสึกกร่อนและหักพังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามขอบด้านตะวันตกของชั้นหิน ซึ่งเป็นจุดที่ชั้นหินเนื้ออ่อนใต้ชั้นหินสุสานหอยถูกกัดเซาะจนเป็นโพรง นักท่องเที่ยวมักจะยืนบริเวณนี้ เพื่อถ่ายรูปและชะโงกดูหินด้านล่าง น้ำหนักที่กดทับลงไปบ่อยๆ ทำให้ชั้นหินแตกหัก

นอกจากนี้ในช่วงน้ำขึ้นประชาชนจะใช้เส้นทางเดินเรือผ่านพื้นที่สุสานหอยในระยะใกล้ คลื่นจากเรือที่วิ่งเข้ากระทบฝั่งจะปะทะกับชั้นหินสุสานหอย ทำให้เกิดการสึกกร่อนและแตกหัก การตัดต้นไม้บริเวณชายฝั่ง การนำดินและทรายบริเวณชายฝั่งไปใช้ประโยชน์ ล้วนมีผลทำให้การกัดเซาะชายฝั่งเกิดขึ้นได้ง่าย และมีผลกระทบต่อการพังทลายของชั้นสุสานหอย ในการพัฒนาจึงมีการศึกษาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรการป้องกันดูแลรักษาแหล่งซากดึกดำบรรพ์ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการอนุรักษ์และหวงแหนแหล่งศึกษาที่มีคุณค่าให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

นายมนตรี เหลืองอิงคะสุต รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี  ยังได้พาไปดูการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยา น้ำตกร้อนตำบลคลองท่อม อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ น้ำตกร้อนเป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 5 เมตร และกว้างประมาณ 10 เมตร น้ำตกร้อน เกิดจากน้ำผิวดินซึมลงไปใต้ดิน ไหลผ่านชั้นน้ำในระดับลึก ถึงบริเวณที่หินแกรนิตที่ยังคงมีความร้อนอยู่ จนกระทั่งน้ำใต้ดินนั้นร้อนขึ้นมากกว่าจุดเดือดของน้ำ แรงดันของไอน้ำเพิ่มขึ้น น้ำใต้ดินจึงไหลย้อนขึ้นมาสู่ผิวดินกลายเป็นน้ำพุร้อนขึ้นสู่ผิวดิน ไหลรวมกับลำธาร ในบางบริเวณสายน้ำมีควันลอยกรุ่นน้ำร้อนมีสารละลายแคลเซียมคาร์บอเนตในปริมาณสูงเนื่องจากไหลผ่านชั้นหินปูน เมื่อน้ำไหลผ่านชั้นดินและป่าทำให้เกิดคราบหินปูนสีต่างๆ ตลอดทาง โดยเฉพาะตลิ่งของคลองท่อมที่คราบหินปูนได้พอกหนาจนเกิดเป็นแอ่งน้ำตกขนาดเล็กหลายแอ่ง เป็นชั้นๆ ลดหลั่นกัน เป็นแอ่งน้ำให้นักท่องเที่ยวได้แช่น้ำร้อนได้อย่างสบาย อุณหภูมิของน้ำเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 42 องศาเซลเซียส ใส และไม่มีกลิ่น เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปอาบน้ำตกร้อนและธารน้ำแร่เพื่อสุขภาพ

น้ำตกร้อนมีลักษณะธรณีวิทยา ประกอบด้วย หินทราย หินดินดาน หินทรายแป้ง และหินกรวดมน ชั้นหินมีขนาดหนาและบางสลับกัน แสดงชั้นชัดเจน ของหมวดหินลำทับ ยุคครีเทเชียสพื้นที่นี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มรอยเลื่อนขนาดใหญ่ซึ่งวางตัวอยู่ในแนวเกือบเหนือ-ใต้ เป็นช่องทางที่นำน้ำร้อนขึ้นมาสู่ผิวดิน

ปัจจุบันชาวบ้านมีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลคลองท่อมเหนือ มีกิจกรรมต่างๆอย่างห้องอาบน้ำแร่ บ่อน้ำร้อนแช่ตัว แช่เท้า และศาลานวดแผนไทยให้บริการกับนักท่องเที่ยว มีร้านค้า ร้านอาหาร และลานจอดรถให้บริการ มีการจัดการพื้นที่โดยรอบให้สวยงาม มีป้ายเตือนกำกับในจุดสำคัญที่จะทำให้ผู้มาใช้บริการมีความปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งด้วย

ใครสนใจอยากท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา สามารถหาข้อมูลรายละเอียดก่อนไปท่องเที่ยวได้ จะทำให้การท่องเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้นั้นล้วนมีคุณค่าและน่าชมมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วช. พาเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ครั้งที่ 5

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ในงาน...