วันเสาร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564

กรมเจรจาฯ ลงใต้หนุนสินค้าช้างเผือกปัตตานี ใช้ประโยชน์จาก FTA เจาะตลาดอาเซียน

 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่จังหวัดปัตตานี พบผู้ประกอบการสินค้าศักยภาพ ทั้งประมงพื้นบ้าน ทอผ้า และเลี้ยงปลาสลิด แนะพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับสินค้าเฉพาะถิ่น ชี้! โอกาสเจาะตลาดอาเซียนสูง โดยเฉพาะประเทศแถบชายแดนใต้ อย่างมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย พร้อมชี้ช่องใช้ประโยชน์จาก FTA ขยายส่งออกเพิ่ม

นายดวงอาทิตย์ นิธิอุทัย รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) ให้ลงพื้นที่พบหารือกับผู้ประกอบการในจังหวัดปัตตานี ร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดปัตตานี ระหว่างวันที่ 8 – 9 มีนาคม ที่ผ่านมา ภายใต้โครงการ “สร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย และใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ขยายส่งออกไปตลาดต่างประเทศ

นายดวงอาทิตย์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้พบหารือกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านประมงพื้นบ้านบูดี อ.ยะหริ่ง ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูป ตรา “มาเรียม” ผลิตสินค้าหลากหลาย อาทิ กรือโป๊ะ (ข้าวเกรียบปลา) ปลาทุบปรุงรส ปลาหวาน และทองม้วนไส้ปลา มีมาตรฐานรับรองสินค้า และมีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ปัจจุบันวางจำหน่ายที่ห้างค้าปลีกในพื้นที่ภาคใต้ อาทิ Big C และ Max Valu และส่งออกไปมาเลเซีย โดยเริ่มเจาะตลาดต่างประเทศจากงาน THAIFEX ติดต่อกัน 5 ปี นอกจากนี้ ยังได้พบปะกับกลุ่มอาชีพสตรีทอผ้าบ้านตรัง ซึ่งเป็นแหล่งทอผ้า “จวนตานี” หรือผ้าลีมา ซึ่งมีลวดลายโบราณ มีการทอลายที่มีเอกลักษณ์พิเศษ ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมเรื่องลวดลายผ้าจาก ม.สงขลานครินทร์ ปัตตานี ขณะนี้อยู่ระหว่างเพิ่มช่องทางจำหน่าย เละศึกษาข้อมูลเพื่อยื่นขอจดทะเบียน GI

นายดวงอาทิตย์ เพิ่มเติมว่า กรมฯ ยังได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มเลี้ยงปลาสลิดดอนนา ซึ่งเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่นในจังหวัดปัตตานี สามารถเติบโตได้ในน้ำเปรี้ยว มีไขมันต่ำ เนื้อแน่น และรสชาติดี ซึ่งมีการแปรรูปเป็นปลาสลิดแดดเดียว และน้ำพริกปลาสลิด โดยสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 7 ตัน แต่สามารถผลิตสินค้าได้เพียงปีละ 2 ตัน นอกจากนี้ ยังได้รับการผลักดันให้เป็นสินค้าเศรษฐกิจของจังหวัด ปัจจุบันมีสมาชิก 32 คน มีการแบ่งกลุ่มการทำงาน ทั้งการเพาะพันธุ์ การเลี้ยง แปรรูปและจำหน่าย ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับสมาชิกตลอดทั้งปี

การลงพื้นที่ครั้งนี้ ได้ทราบถึงความสามารถในการผลิตสินค้าท้องถิ่นที่มีศักยภาพ โดยกรมฯ ได้ให้ข้อมูลและองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ การจัดทำแผนธุรกิจ การตลาด และด้านบุคลากร พร้อมทั้งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งใช้ความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์และความใกล้ชิดกับอาเซียน เจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และบรูไนฯ ซึ่งมั่นใจว่าจะมีโอกาสขยายตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก FTA ควบคู่ไปด้วย เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้า และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย  นายดวงอาทิตย์ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วช. พาเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ครั้งที่ 5

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ในงาน...