วันพฤหัสบดีที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2563

บจธ. ปลื้ม 3 วิสาหกิจชุมชนในเชียงราย มีที่ทำกินเป็นของตนเอง

 สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) หรือ บจธ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในที่ดินทํากิน ที่อยู่อาศัย และความยากจนของประชาชนที่ไม่มีที่ดินทํากินและไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง รวมถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการจํานวนมากปิดกิจการ ทําให้ประชาชนไม่มีงานทําและขาดรายได้ในการดํารงชีพ

นายกุลพัชร ภูมิใจอวด รองผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน หรือ บจธ. กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบนโยบายให้ บจธ. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหนึ่ง ในการแก้ปัญหาดังกล่าวในการช่วยเหลือประชาชนให้มีที่ดินทํากินและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยต้องเร่งกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน รวมทั้งป้องกันและแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินจากการจํานอง การขายฝาก และการถูกบังคับคดี รวมถึงสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโควิด-19ด้วย ที่ประชาชนจํานวนมากได้รับผลกระทบ หลายบริษัทห้างร้านเลิกจ้างพนักงาน หรือโรงงานปิดตัวลง ผู้คนเดินทางกลับภูมิลำเนาไม่มีอาชีพรองรับ บจธ. ต้องให้ความช่วยเหลือโดยได้น้อมนําหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกพื้นที่ด้วยการบูรณาการร่วมกับหน่วยงาน ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประชาชนจนนำมาสู่ความสำเร็จในการดำเนินการภายใต้โครงการตามมติคณะรัฐมนตรี

วิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา  วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์เชียงราย ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในชุมชนเข้มแข็ง และสามารถบริหารจัดการที่ดินตามโครงการของ บจธ. ได้ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าชื่นชม จากความเป็นมาในพื้นที่บริเวณดอยอินทรีย์ ตำบลดอยฮาง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นี้ เกิดจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นไม่มีที่ดินทำกินและได้เข้าบุกรุกเพื่อจับจองพื้นที่ทำไร่ ในเขตพื้นที่ป่าไม้ บริเวณโดยรอบดอยอินทรีย์กว่า 800 ไร่ ส่งผลให้สภาพป่าและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย อีกทั้งบริเวณพื้นที่โฉนดโดยรอบเขตป่ามีนายทุนกว้านซื้อที่ดินเพื่อประกอบกิจการจำนวนมาก เพื่อเป็นการรักษาพื้นที่ของบรรพบุรษของชุมชนให้เป็นของคนในท้องถิ่นและทำกิจกรรมทางการเกษตร พระอาจารย์วิบูลย์  ธฺมมเตโช จึงได้หาทางแก้ไข และขับเคลื่อนรวบรวมชาวบ้านที่มีความเดือดร้อนด้านที่ดินทำกินเหล่านี้ ลงมาจากป่าทำความเข้าใจและจัดตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนศาสตร์พระราชา วัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์เชียงราย โดยมี นายขิณรัตน์ สินสิทธิพล เป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจฯ และได้ยื่นหนังสือขอรับความช่วยเหลือด้านที่ดินทำกินมายังสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อให้ทาง บจธ. ดำเนินการจัดซื้อที่ดินเฟสแรก ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ เพื่อนำมาจัดสรรให้กับสมาชิกวิสาหกิจฯ จำนวน 28 ครอบครัว (โครงการเฟส 1) และเนื้อที่เฟสที่ 2 ประมาณ 46 ไร่ ให้กับสมาชิกจำนวน 32 ครอบครัว (โครงการเฟส 2) รวมเนื้อที่ประมาณ 84 ไร่ ซึ่งจะจัดสรรที่ดินโดยแบ่งออกเป็นรายละ 1 ไร่ ให้มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์ในที่ดิน จะดำเนินการตามแนวทางของศาสตร์พระราชาหรือเกษตรทฤษฎีใหม่

​การบริหารงานของวิสาหกิจฯ สมาชิกจะร่วมกันผ่อนชำระกับ บจธ. ในระยะเวลา 30 ปี โดยระยะการดำเนินการ 1-2 ปีแรก บจธ. ให้กลุ่มสามารถเช่าที่ดินก่อน เพื่อให้มีรายได้จากผลผลิตในแปลงที่ดินก่อน ปัจจุบัน วิสาหกิจฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่จากทุนสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการบริหารจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ของ บจธ. เพื่อใช้ในการปรับสภาพพื้นที่ การขุดลำเหมือง การขุดสระน้ำในพื้นที่ส่วนกลาง และสมาชิกทุกคนยังได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่โดยการนัดเอามื้อ (ลงแขกร่วมกัน) เพื่อร่วมในการขุดคลองไส้ไก่ในแต่ละแปลง การทำรั้ว ระบบน้ำ ถนน การสร้างบ้าน รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการที่เข้มข้น เช่น ต้องทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงบันได 9 ขั้น ต้องรักษาศีล 5 มีความกตัญญูต่อพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ ต้องร่วมกันสวดมนต์ทุกวันพระ เป็นต้น เพื่อให้สมาชิกได้เกิดความสามัคคี มีความรัก ความซื่อสัตย์ กตัญญู และความเข้มแข็งภายในกลุ่ม โดยสมาชิกในกลุ่มใช้ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี เกษตรกรสามารถเข้าทำกินและสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวได้

อีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างคือวิสาหกิจชุมชนเชียงรายอุ่นไอรักษ์ สมาชิกกลุ่ม 65 ครัวเรือน เนื้อที่ 68-2-54.5 ไร่ ที่ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ได้รับการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2563 มีแนวทางในการดำเนินงานที่ให้ความสำคัญกับวิสัยทัศน์ คือ รู้คิด รู้ทำ รู้พัฒนา สู่เศรษฐกิจพอเพียง โดยผู้นำกลุ่มและสมาชิกได้ร่วมกันตั้งปณิธานว่าจะยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ของครอบครัว และชุมชนที่มั่งคงและยั่งยืน ปัจจุบัน มีสมาชิกส่วนใหญ่ ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ตั้งใจผลิตพืชผักอินทรีย์ปลอดสารพิษ เน้นรับประทานพืชเป็นยา แทนที่การรับประทานยา เพื่อให้ชุมชน และพี่น้องประชาชนในจังหวัดเชียงรายมีสุขภาพที่ดี ปลอดโรคภัยไข้เจ็บ ปัจจุบัน ผลผลิตที่ได้มีทั้งที่เกษตรกรนำออกไปจำหน่ายเอง และมีคนมารับซื้อถึงบ้าน สร้างรายได้ให้เกษตรกรในชุมชนได้เดือนละประมาณ 6,000-10,000 บาท

วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โยนกนคร (บ้านสันต้นเปา) เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจในการทำเกษตร แต่เดิมนั้นเกษตรกรบ้านสันต้นเปา หมู่ที่ 6 ตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย และอีกหลายหมู่บ้านใกล้เคียง ขาดที่ดินทำกิน เนื่องจากที่ดินในอำเภอเชียงแสนเริ่มมีราคาแพง จนเกษตรกรจำนวนมากไม่สามารถที่จะซื้อที่ดินทำกินเป็นของตัวเองได้ เกษตรกรจึงได้มองหาหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือให้ชุมชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงที่ดินทำกิน โดยไม่ต้องเช่าที่ดินทำกินอีก เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรในชุมชนได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างมั่งคง และยั่งยืน ส่งต่อให้ลูกหลานของตนเองได้ จึงร่วมตัวกันจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน โยนกนคร (บ้านสันต้นเปา) เพื่อขอรับความช่วยเหลือที่ดินทำกินจาก บจธ. วันที่ 2 มีนาคม 2563 วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนโยนกนคร มีหนังสือขอความช่วยเหลือมายัง บจธ. เพื่อสนับสนุนการจัดซื้อที่ดิน ในพื้นที่ตำบลโยนก อำเภอเชียงแสน จำนวน 50 แปลง เนื้อที่ประมาณ 416 ไร่ เพื่อนำมาจัดสรรให้สมาชิก จำนวน 100 ราย รายละประมาณ 3-5 ไร่ และบจธ. ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนโดยมีชาวบ้านสมาชิกมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน จนเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา บจธ. ได้รับโอนกรรมสิทธิที่ดินและให้สมาชิกวิสาหกิจฯ ทำสัญญาเช่า เพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามความมุ่งหวังของสมาชิกกลุ่ม โดยในอนาคตจะเป็นการเช่าซื้อ พร้อมกันนี้ บจธ. ยังได้ จัดการอบรมหลักสูตรกสิกรรมธรรมชาติให้แก่สมาชิกในกลุ่มได้มีความรู้ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ปัจจุบัน สมาชิกได้มีการวางแผนการปรับสภาพพื้นที่ในแปลงที่ดิน รวมถึงการดำเนินการทำถนนในแปลงที่ดิน โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นภาคีความร่วมมือกับ บจธ. ได้ร่วมเข้ามาช่วยในการออกแบบผังแปลงตามภูมิสถาปัตย์ และวางแผนปลูกพืชระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์ในแปลงที่ดินได้อย่างเต็มศักยภาพ ให้สามารถนำผลผลิตออกจำหน่ายเป็นรายได้ให้แก่ชุมชนได้


นายกุลพัชร กล่าวเพิ่มเติมว่า สรุปภาพรวม บจธ. ได้ช่วยเหลือเกษตรกรปี พ.ศ. 2559 – 2563 มีจำนวนเกษตรกรที่ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 4,134 ราย จำนวนเนื้อที่ประมาณ 5,090 ไร่ บจธ. ได้จัดพิธี “มอบสิทธิในที่ดิน : ของขวัญปีใหม่จากใจ บจธ” คืนโฉนดให้กับเกษตรกร สมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2564 นำความสุขมาให้แก่เกษตรกร เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้ยากจนและพี่น้องที่ว่างงาน

และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ขณะเดียวกัน บจธ. ได้อยู่ในระหว่างเสนอร่างกฎหมายในการจัดตั้งธนาคารที่ดินหรือองค์การอื่นที่มีวัตถุประสงค์ลักษณะทำนองเดียวกันกับธนาคารที่ดิน อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชน และรัฐบาล ในการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง รวมถึงแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดิน ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านที่ดิน ส่งผลให้เกิดการสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม ซึ่งขณะนี้ บจธ. อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น 7 พื้นที่ ใน 4 ภาค ทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในเดือนมกราคม 2564 นี้ด้วย

 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วช. พาเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ครั้งที่ 5

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ในงาน...