วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2563

ลูกค้า ธ.ก.ส. อ่างทอง ปลื้มสนับสนุนสินเชื่อฝ่าวิกฤตโควิด-19

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดไวรัสโคโรน่า-19 หรือ โควิด- 19 ที่ถาโถมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เมื่อต้นปี มาถึงช่วงไตรมาสสุดท้ายปลายปียังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า บ้างล้มลง อีกหลายหน่วยงาน ก็เลือกที่จะสู้ต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพคล่องด้านการเงินที่จะมาช่วยต่อยอดให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางวิฤตที่มีผลกระทบรอบด้าน

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. คือหนึ่งสถาบันการเงินที่ยังคงยืนหยัดเคียงคู่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มชุมชนต่างๆรวมถึงธุรกิจเกษตรเอสเอ็มอีที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดฯอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ยังคงยืนหยัดดูแลลูกค้าให้เดินหน้าต่อไปได้

นางปราณี จันทวร อดีตประธานกลุ่มจักสานผักตบชวาบางตาแผ่น ตำบลคลองวัว อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง  แม้ในวันที่เกษียณยังคงทำหน้าที่ต้อนรับแขกแทนประธานกลุ่มฯ กล่าวว่า กลุ่มจักสานฯเริ่มก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2532 มีสมาชิกเริ่มต้น 14 คน โดยนำผักตบชวาที่เก็บจากคลองบางตาแผ่นรวมถึงที่รับซื้อจากชาวบ้านซึ่งเป็นวัชพืชที่ส่งผลกระทบกับเกษตรกร ขวางทางน้ำในแหล่งน้ำ โดยต้องเสียเงินเสียเวลาในการกำจัดซึ่งเมื่อนำขึ้นตากน้ำมาก็เน่าเสียไม่มีประโยชน์ จึงมีแนวคิดในการนำมาสานแทนไม้ไผ่ เมื่อทดลองทำดูแล้วปรากฏว่าสามารถใช้ทดแทนกันได้อย่างดี จึงเริ่มดำเนินการและพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆจนได้รับการยอมรับจากทั้งในและต่างประเทศ จากนั้นนำมาตากในโรงเรือนจนแห้งได้ที่มาทำการขึ้นรูปจักสานตามออเดอร์ที่ได้รับ มีทั้งเครื่องใช้ประจำวันเช่นตะกร้า ชุดรับแขก กระเป๋า หมวกแก๊ปสาน เฉพาะหมวกในแต่ละวันชาวบ้านหนึ่งคนจะสานได้เพียง 1 ใบเท่านั้น  ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มกว่า 70 คน มีทั้งเก็บผักตบชวามาขาย ส่วนที่มีฝีมือก็เป็นคนสานขึ้นรูป ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนถึงปีละกว่า 1 ล้านบาททีเดียว โดยนอกจากในชุมชนบางตาแผ่นแล้ว ยังขยายเครือข่ายไปยังชุมชนต่างๆภายในจังหวัด ให้เป็นลูกข่ายในการจักสาน มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่นญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย อีกด้วย

ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19  ทางกลุ่มฯได้รับผลกระทบด้านการส่งออก โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่ยอดการสั่งซื้อลดลง ประกอบกับตลาดในประเทศมียอดขายลดลง ทำให้ทางกลุ่มได้คิดหาหนทางการผลิต การตลาดใหม่ๆ จึงเพิ่มรูปแบบรับผลิตตามออเดอร์มากขึ้น เพื่อช่วยให้ทางกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมี ธ.ก.ส.อ่างทอง ก็เข้ามาช่วยในเรื่องของการสนับสนับสนุนด้านเงินทุน เพราะการนำไปส่งจำหน่ายให้กับห้างหรือที่อื่นๆ ต้องมีการให้เครดิตในการเก็บเงิน จึงต้องมีทุนมาสำรอง ทาง ธ.ก.ส.ได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มที่ รวมถึงการช่วยประชาสัมพันธ์หาตลาด จนทำให้สามารถก้าวเดินมาได้ถึงวันนี้ แม้จะต้องประสบปัญหากับสถานการณ์โรคโควิด-19 ก็ตาม (ผู้สนใจผลิตภัณฑ์สอบถามไปได้ที่ นายสมบัติ แพร่หลาย ประธานกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านบางตาแผ่น โทร.080 108 4114)

เช่นเดียวกับ” วีระพงศ์เจริญฟาร์ม” ฟาร์มนกกระทาชื่อดังในจังหวัดอ่างทอง โดยมีนายระวีพงศ์   วีระพงศ์เป็นเจ้าของฟาร์มและเป็นลูกค้าธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาอ่างทอง อีกด้วย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจฟาร์มนกกระทา โดยมีโรงเลี้ยงนกกระทาระบบปิด หรืออีแวป  พร้อมทั้งมีการแปรรูปจำหน่าย เช่นนกเนื้อแปรรูป ไข่นกกระทา  มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบัน  มีขนาดพื้นที่ 20 โรงเรือน  ปริมาณ 800,000 - 1,200,000 ตัวต่อรุ่น ฟาร์มได้รับมาตรฐาน GAP ของกรมปศุสัตว์  รวมถึงนกกระทาชำแหละ นกกระทาสาว พร้อมขึ้นกรงไข่สด แปรรูปทั้งปลีก-ส่ง ที่ได้รับการรับรองจาก องค์การอาหารและยา (อ.ย.) และเครื่องหมายฮาลาล (HALAL) ตลาดใหญ่ของไข่นกกระทา ในประเทศยังคงเป็นร้านอาหารชื่อดังที่นำไปใส่ในสลัดบาร์ ร้านอาหารทั่วไปและการบริโภคในครัวเรือน ที่ทดแทนไข่เป็ด ไข่ไก่ในบางช่วงที่ขาดตลาด แต่ถือว่ายังได้รับความนิยมกันอยู่พอประมาณ และได้ขยายตลาดใหม่ๆไปต่างประเทศ โดยมีลูกชายอย่าง นายชิชญาส์ วีระพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ดับเบิ้ลยู อาร์ พี แอนด์ โปรดักส์ จำกัด (WRP & Product) ที่เข้ามาทำตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง ตลาดที่สำคัญคือ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการทำเอกสารมาตรฐานของประเทศผู้นำเข้าอยู่ ในลักษณะของไข่ต้มสุก ที่มีอายุการจัดเก็บได้นานหลายเดือนหรือถึงหนึ่งปี ที่จะทำให้ไข่นกกระทาไทยได้เป็นที่รู้จักทั่วโลกมากขึ้น

ทั้งนี้ทางฟาร์มเองก็ได้พัฒนาฟาร์มเพื่อสร้างคุณภาพการผลิตให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยมี ธ.ก.ส. ได้ให้การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อใช้จ่ายทุนหมุนเวียน สินเชื่อโครงการยั่งยืนภาคเกษตรกรไทย และสินเชื่อโครงการลงทุนปรับปรุงขยายโรงเรือน ที่ในอีกสองปีก็จะทำเป็นระบบออโต้ทำให้ฟาร์มมีความมั่นใจในการลุยตลาดได้อย่างเต็มที่

นายกรสมรรถ เลาพิกานนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ทาง ธ.ก.ส. นอกจากจะสนับสนุนทุนสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี แล้ว ยังได้มองหาช่องทางการตลาดอื่นๆที่พอจะช่วยกันได้ เพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้ที่หันกลับมาทำงานที่บ้านหลังประสบภาวะการว่างงานจากโควิด-19 ทำให้มีอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวต่อไป  ผู้สนใจก็สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ ธ.ก.ส.อ่างทอง หรือ สำนักงาน ธ.ก.ส.ใกล้บ้านท่านได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วช. พาเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ครั้งที่ 5

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ในงาน...