วันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ธ.ก.ส. เสริมสภาพคล่อง Soft loan ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตรที่ราชบุรี

จากมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เห็นชอบให้ตราพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา และมีผลบังคับ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการมาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ และการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID - 19 และปัญหาอื่น ๆ ให้มีเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ ช่วยรักษาระดับการจ้างงาน และเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ



นายยุวพล วัตถุ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคตะวันตก ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19  ทาง ธ.ก.ส. จึงขับเคลื่อนนโยบาย ธปท. พร้อมให้ความช่วยเหลือเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเกษตร ที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตร ที่ทาง ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อใหม่ช่วยให้ลูกค้า ธ.ก.ส. สามารถผ่อนคลายความกังวลในภาระหนี้สินเดิม และมีเงินทุนหมุนเวียนใหม่ในการดำเนินธุรกิจไปได้อย่างต่อเนื่อง ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี ปลอดชำระคืนดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก วงเงินกู้สูงสุดไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดหนี้คงค้าง  ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยไม่เรียกหลักประกันเพิ่ม



นายณรงค์ศักดิ์ ชื่นสุชน กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็นซีโคโคนัท จำกัด  หนึ่งในลูกค้าของ ธ.ก.ส. ที่เข้าร่วมโครงการ  Soft Loan กล่าวว่า จากเหตุการณ์โรคระบาด โควิด-19 ทำให้ธุรกิจการแปรรูปมะพร้าวหลากหลายผลิตภัณฑ์ อาทิ น้ำมะพร้าว วุ้นมะพร้าว อาหารเสริม เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน จึงได้เข้าโครงการสนับสนุนสินเชื่อใหม่กับ ธ.ก.ส. เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับบริษัทฯ จากวิกฤติโควิด 19 ครั้งแรกที่เกิดในประเทศจีน  ทางบริษัทได้ใช้วิธีส่งออกไปยังตลาดยุโรป หลังจากนั้น เชื้อโรคได้ระบาดไปยังยุโรปจึงได้กลับมาส่งประเทศจีนอีกครั้ง แม้ว่ายอดการส่งออกจะลดน้อยลง แต่ก็ยังมีการผลิตเท่าเดิม  จึงได้เสริมสภาพคล่องด้านพนักงานที่อยู่ในเครือข่ายประกันสังคม 400 คน และนอกเครือข่ายอีก 800 คน ทำให้ช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ทางบริษัทยังทำงานกันได้ปกติ  อีกทั้งส่วนหนึ่งได้นำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายตลาดออนไลน์  ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่กำลังไปได้ดี โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่ผู้คนหันมานิยมช้อปปิ้งออนไลน์ผ่านทางช่องโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้ง เพจเฟสบุ้ค ไลน์ อินสตราแกรม และดูแนวโน้มมีช่องทางการเติบโตที่มากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะพร้าวต่างๆ เช่น น้ำมะพร้าวน้ำหอมแท้ๆที่ส่งตรงถึงบ้าน  วุ้นมะพร้าว พุดดิ้งมะพร้าว  เนื้อมะพร้าวน้ำหอม รวมถึง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันพร้าวสกัดเย็น อีกด้วย



สำหรับการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ ของ ธ.ก.ส. เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่นอกจากจะเสริมสภาพคล่องด้านการเงินแล้ว ยังช่วยให้ทางบริษัทมีการพัฒนาต่อยอดพัฒนาผลิตใหม่ๆได้อีก แม้ว่าสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ไม่รู้จะบานปลายไปอีกนานแค่ไหน การผลิตสินค้าอย่างมะพร้าวน้ำหอม ยังคงต้องมีระบบการผลิตที่ดี การจัดการสวนที่ดีให้มีคุณภาพสู่ผู้บริโภคต่อไป  นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว



เช่นเดียวกับ  นายบุรี อยู่แก้ว บริษัทโนรี คิง ฟรุ๊ต (ประเทศไทย) จำกัด  เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่ใช้มะพร้าวสดนำมาแปรรูปเป็นมะพร้าวพร้อมรับประทานและเป็นศูนย์รวบรวมผลไม้อื่นๆ เช่น ชมพู่ ฝรั่ง มะม่วง ส่งออกต่างประเทศ บอกว่า ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ประเทศจีนปิดน่านฟ้าจากโรคระบาดโควิด-19  ทำให้ผลไม้ที่กำลังรอส่งออกได้รับผลกระทบ อย่างชมพู่ ที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นานทำให้ต้องเสียคุณภาพไป ขาดทุนหลายล้านบาท  และพนักงานบางส่วนที่เป็นลูกจ้างประเทศเพื่อนก็ต้องกลับประเทศประมาณ 50% ทำให้ต้องกลับมาวางแผนการทำงานกันใหม่  เพราะนอกจากสวนของตนเองแล้ว ยังมีสวนของลูกไร่ที่อยู่ในเครือข่ายอีกหลายครอบครัว ยังต้องพึ่งพาการส่งออกผลไม้อยู่ พอมีการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ ของ ธ.ก.ส.เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้มีสภาพคล่องที่จะเดินหน้าต่อ โดยการนำผลไม้มาจำหน่ายในตลาดในประเทศ แม้ว่ายอดขายจะลดลงมากกว่า 50% แต่ก็ประคองให้เดินต่อไปให้ได้ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดโควิด -19 อีกทั้งยังได้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวเป็นรูปแบบอื่นๆเพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

วช. พาเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานประดิษฐ์คิดค้นในคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ครั้งที่ 5

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ในงาน...